วันเด็กแห่งชาติ

ประวัติงานวันเด็ก

     งานวันเด็กแห่งชาติจัดขึ้นเป็นครั้งแรก เมื่อวันจันทร์แรกของเดือนตุลาคม พ.ศ. 2498 ตามคำเชิญชวนของ นายวี.เอ็ม. กุลกานี ผู้แทนองค์การสหพันธ์เพื่อสวัสดิภาพเด็กระหว่างประเทศแห่งสหประชาชาติ เพื่อให้ประชาชนเห็นความสำคัญและความต้องการของเด็ก และเพื่อกระตุ้นให้เด็กตระหนักถึงบทบาทอันสำคัญของตนในประเทศ โดยปลูกฝังให้เด็กมีส่วนร่วมในสังคม เตรียมพร้อมให้ตนเองเป็นกำลังของชาติ

     รัฐบาลได้จัดให้มีคณะกรรมการจัดงานวันเด็กแห่งชาติขึ้นมาคณะหนึ่ง ทำหน้าที่ประสานงานกับหน่วยงานต่างๆ ทั้งภาครัฐบาล รัฐวิสาหกิจ และเอกชน กำหนดให้มีการฉลองวันเด็กแห่งชาติทั้งในส่วนกลางและส่วนภูมิภาค จุดประสงค์เพื่อให้เด็กทั่วประเทศทั้งในระบบโรงเรียนและนอกระบบโรงเรียน ได้รู้ถึงความสำคัญของตน เกี่ยวกับสิทธิ หน้าที่ ความรับผิดชอบ ระเบียบวินัย ที่มีต่อตนเองและสังคม มีความยึดมั่นในสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ และการปกครองในระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข

     งานวันเด็กแห่งชาติจัดขึ้นทุกปีในวันจันทร์แรกของเดือนตุลาคมจนถึง พ.ศ. 2506 และใน พ.ศ. 2507 ไม่สามารถจัดงานวันเด็กได้ทัน จึงได้เริ่มจัดอีกครั้งในปี พ.ศ. 2508 โดยเปลี่ยนเป็นวันเสาร์ที่ 2 ของเดือนมกราคม เนื่องจากเห็นว่าเป็นช่วงหมดฤดูฝนและเป็นวันหยุดราชการ จนถึงทุกวันนี้

 
    การจัดงานวันเด็กในประเทศไทย


            ปีพุทธศักราช 2498 อันเป็นปีที่ทั่วโลกเริ่มจัดงานเฉลิมฉลองวันเด็กแห่งชาติกันขึ้น ตามความเห็นคล้อยตามกับองค์การสหประชาชาติที่นำปัญหาเรื่องเด็กมาร่างเป็นปฏิญญาว่าด้วยสิทธิของเด็กขึ้นมา

            ประเทศไทยได้รับข้อเสนอของนาย วี เอ็ม กุลกานี ผู้แทนองค์กรสมาพันธ์เพื่อสวัสดิภาพเด็กระหว่างประเทศ ผ่านมาทางกรมประชาสงเคราะห์ กระทรวงมหาดไทยว่า ประเทศไทยควรจัดงานเฉลิมฉลองวันเด็กแห่งชาติขึ้น เพื่อส่งเสริมให้ประชาชนเห็นความสำคัญของเด็กให้มากขึ้น ดังที่นานาประเทศกำลังทำอยู่

            ขณะนั้น สภาวัฒนธรรมแห่งชาติยังมิได้ถูกยุบเลิกไป คณะกรรมการสภาวัฒนธรรมแห่งชาติ จึงนำเรื่องนี้เข้าสู่ที่ประชุมเพื่อพิจารณา ในที่สุดที่ประชุมได้เห็นชอบนำเรื่องเสนอต่อคณะรัฐมนตรีในขณะนั้น ต่อมาเมื่อวันที่ 27 กรกฎาคม พ.ศ.2498 ได้มีมติคณะรัฐมนตรีรับหลักการ ให้จัดงานวันเด็กแห่งชาติขึ้น โดยมอบหมายให้กระทรวงมหาดไทย และกระทรวงศึกษาธิการรับไปดำเนินการ ส่วนของค่าใช้จ่ายในการจัดงานั้น ได้อนุมัติเงินจากกองสลากกินแบ่งรัฐบาลมาดำเนินการ

            ดังนั้น ในวันที่ 3 ตุลาคม พ.ศ.2498 ประเทศไทย จึงมีงานเฉลิมฉลองวันเด็กแห่งชาติเกิดขึ้นเป็นครั้งแรก จากนั้นเป็นต้นมา ทางราชการได้กำหนดวันจันทร์แรกของเดือนตุลาคมของทุกปีเป็นวันเด็กแห่งชาติสำหรับประเทศไทย และจัดติดต่อกันมาจนถึงปี พ.ศ.2506 ที่ประชุมคณะกรรมการจัดงานวันเด็กแห่งชาติในปีนั้น มีความเห็นพ้องต้องกันว่า สมควรที่จะเสนอเปลี่ยนวันจัดงานวันเด็กแห่งชาติเสียใหม่ เพื่อความเหมาะสมด้วยเหตุผลว่า ในเดือนตุลาคมสำหรับประเทศไทยเราเป็นเดือนที่ยังอยู่ในฤดูฝน มีฝนตกมาก เด็ก ๆ ไม่สะดวกในการมาร่วมงาน ประการต่อไปก็คือ วันจันทร์เป็นวันปฏิบัติงานของผู้ปกครอง จึงไม่สามารถพาเด็กของตนไปร่วมงานได้ ตลอดจนการจราจรก็ติดขัด จึงเห็นว่าควรจะเปลี่ยนไปเป็นวันเสาร์ที่สองของเดือนมกราคมเสียทุกสิ่งทุกอย่างได้สะดวกสบายขึ้น และมีความเหมาะสมมากกว่า

            จากข้อเสนอดังกล่าว คณะรัฐมนตรีในขณะนั้นมีมติเห็นชอบตามที่คณะกรรมการจัดงานวัดเด็กแห่งชาติเสนอ ลงวันที่ 5 กุมภาพันธ์ 2507 จึงประกาศเปลี่ยนงานฉลองวันเด็กแห่งชาติจากวันจันทร์แรกของเดือนตุลาคม มาเป็นวันเสาร์ที่สองของเดือนมกราคมตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นมา ด้วยเหตุนี้จึงส่งผลให้ปี พ.ศ.2507 ไม่มีงานวันเด็กแห่งชาติด้วยการประกาศเปลี่ยนได้เลยวันมาแล้ว

            งานวันเด็กแห่งชาติได้เริ่มจัดขึ้นมาใหม่อีกครั้งในปี พ.ศ.2508 และจัดเรื่อยมาจนถึงปัจจุบัน นับเป็นเวลาได้ 38 ปีแล้ว (งดจัดในปี พ.ศ.2507 หนึ่งปี)


    วัตถุประสงค์ของการจัดงานวันเด็กแห่งชาติ

  1. เพื่อให้ประชาชนได้ตระหนักถึงความสำคัญของเด็ก สนใจในการเลี้ยงดูอบรมสั่งสอนเด็ก และช่วยเหลือสงเคราะห์เด็กเป็นพิเศษ
  2. เพื่อให้เด็กและและเยาวชนยึดมั่นในสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ และการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข
  3. เพื่อให้เด็กรู้จักหน้าที่ของตน และอยู่ในระเบียบวินัยอันดี
  4. เพื่อเผยแพร่ปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิของเด็ก

    ปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิเด็กและเยาวชน ขององค์การสหประชาชาติ

            ข้อ 1.  เด็กและเยาวชน พึงได้รับสิทธิเท่าเทียมกันโดยปราศจากการแบ่งแยกหรือกีดกัน ไม่ว่าโดยวิธีใด ๆในเรื่อง เชื้อชาติ ผิว เพศ ภาษา ศาสนา ความคิดเห็นทางการเมือง เผ่าพันธุ์แห่งชาติ หรือ สังคมทรัพย์สิน กำเนิดหรือสถานะอื่น ๆ ไม่ว่าจะของเด็กหรือของครอบครัวก็ตาม

            ข้อ 2.  เด็กและเยาวชน พึงได้รับการพิทักษ์คุ้มครองเป็นพิเศษ อันจะช่วยให้เด็กสามารถพัฒนาทั้งทางกาย ทางสมอง และจิตใจเพื่อให้ร่วมอยู่ในสังคมได้อย่างปกติชน

            ข้อ 3.  เด็กและเยาวชน มีสิทธิที่จะได้มีชื่อและมีสัญชาติแต่กำเนิด

            ข้อ 4.  เด็กและเยาวชน พึงได้รับความมั่นคงทางสังคมและเติบโตอย่างสมบูรณ์ ดังนั้นทั้งแม่และเด็ก ควรได้รับการดูแลและคุ้มครองเป็นพิเศษ ทั้งเมื่ออยู่ในครรภ์และภายหลังเมื่อคลอดแล้ว โดยได้รับสิทธิในเรื่องที่อยู่อาศัย ได้รับอาหาร ได้รับการดูแลทางแพทย์ และโดยเฉพาะเด็ก ๆ ให้ได้รับการเล่นรื่นเริงเพลิดเพลินด้วย

            ข้อ 5. เด็กและเยาวชน ที่พิการทั้งทางร่างกาย สมอง และจิตใจ มีสิทธิที่จะได้รับการรักษาพิเศษ หมายถึง การดูแลรักษาและการศึกษาที่เหมาะสมกับสภาวะของเด็กโดยเฉพาะ

            ข้อ 6. เด็กและเยาวชน พึงได้รับความรักและความเข้าใจ อันจะช่วยพัฒนาบุคลิกของตน โดยเติบโตอยู่ในความรับผิดชอบของบิดามารดาของเด็กเอง และในทุกกรณี เด็กจะต้องอยู่ในบรรยากาศที่เต็มไปด้วยความรัก ความอบอุ่น ปลอดภัย และไม่พลัดพรากจากพ่อแม่ ในกรณีที่เด็กไม่มีครอบครัวหรือมาจากครอบครัวที่ยากจนและมีลูกมากก็จะได้รับความช่วยเหลือเป็นพิเศษ จากรัฐหรือองค์การต่าง ๆ

            ข้อ 7. เด็กและเยาวชน มีสิทธิที่จะได้รับการศึกษา ซึ่งครูควรจะจัดให้เปล่าอย่างน้อยในชั้นประถมศึกษา เพื่อเป็นการส่งเสริมวัฒนธรรมโดยทั่ว ๆ ไป และให้เด็กเติบโตเป็นสมาชิกผู้ยังประโยชน์ต่อสังคมคนหนึ่ง การศึกษานี้คลุมไปถึงการแนะแนวทางชีวิต ซึ่งมีบิดามารดาเป็นผู้รับผิดชอบก่อนบุคคลอื่น ๆ เด็กจะต้องมีโอกาสได้รับความสนุกสนานเพลิดเพลิน จากการเล่นและรื่นเริงพร้อมกันไปด้วย

            ข้อ 8. เด็กและเยาวชน จะเป็นบุคคลแรกที่ได้รับการคุ้มครองและสงเคราะห์ในทุกกรณี

            ข้อ 9. เด็กและเยาวชน พึงได้รับการปกป้องให้พ้นจากการถูกทอดทิ้ง จากความโหดร้ายทารุณ และการถูกข่มเหง รังแกทุกชนิด เด็กจะต้องไม่กลายเป็นสินค้า ไม่ว่าในรูปใด จะต้องไม่มีการรับเด็กเข้าทำงานก่อนวัยอันสมควร ไม่มีการกระทำใด ๆ อันจะมีชักจูงหรืออนุญาตเด็กให้จำต้องรับจ้างทำงาน ซึ่งอาจจะเป็นผลร้ายต่อสุขภาพของเด็ก หรือเป็นเหตุให้การพัฒนาทางกายทางสมองและทางจิตใจของเด็กต้องเสื่อมลง

            ข้อ 10. เด็กและเยาวชน พึงได้รับการคุ้มครองให้พ้นจากการกระทำที่แสดงถึงการกีดกัน แบ่งแยก ไม่ว่าทางเชื้อชาติ ศาสนาหรือรูปใด ๆ เด็กจะต้องได้รับการเลี้ยงดูให้เติบโตขึ้นมา " ในภาวะแห่งจิตที่เต็มไปด้วยความเข้าอกเข้าใจ และมีการหย่อนหนักหย่อนเบามิตรภาพระหว่างชนชาติต่าง ๆ สันติภาพ และภาพสากล และด้วยการสำนึกเต็มที่ว่าพละกำลังและความสารถพิเศษในตัวเขา ควรจะอุทิศเพื่อรับใช้เพื่อนมนุษย์ด้วยกัน"


คำขวัญวันเด็ก

คำขวัญวันเด็ก เป็นคำขวัญที่นายกรัฐมนตรีมอบให้เด็กไทย เนื่องในโอกาสวันเด็กแห่งชาติของทุกปี โดยคำขวัญวันเด็กมีขึ้นครั้งแรก เมื่อ พ.ศ. 2499 ในสมัยที่จอมพล ป. พิบูลสงครามดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี และตั้งแต่ พ.ศ. 2502 จอมพล สฤษดิ์ ธนะรัชต์ ซึ่งดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ได้ให้คุณค่าความสำคัญของเด็ก จึงมอบคำขวัญให้เป็นข้อคติเตือนใจสำหรับเด็กปีละ 1 คำขวัญ (ก่อนถึงวันเด็กแห่งชาติ) นายกรัฐมนตรีสมัยต่อมา จึงได้ถือเป็นธรรมเนียมสืบเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน
ปี นายกรัฐมนตรี คำขวัญ
พ.ศ. 2499 จอมพล ป. พิบูลสงคราม จงบำเพ็ญตนให้เป็นประโยชน์ต่อผู้อื่นและส่วนรวม
พ.ศ. 2502 จอมพล สฤษดิ์ ธนะรัชต์ ขอให้เด็กสมัยปฏิวัติของข้าพเจ้า จงเป็นเด็กที่รักความก้าวหน้า
พ.ศ. 2503 จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ขอให้เด็กสมัยปฏิวัติของข้าพเจ้า จงเป็นเด็กที่รักความสะอาด
พ.ศ. 2504 จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ขอให้เด็กสมัยปฏิวัติของข้าพเจ้า จงเป็นเด็กที่อยู่ในระเบียบวินัย
พ.ศ. 2505 จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ขอให้เด็กสมัยปฏิวัติของข้าพเจ้า จงเป็นเด็กที่ประหยัด
พ.ศ. 2506 จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ขอให้เด็กสมัยปฏิวัติของข้าพเจ้า จงเป็นเด็กที่มีความขยันหมั่นเพียรมากที่สุด
พ.ศ. 2507 จอมพลถนอม กิตติขจร ไม่มีคำขวัญ เนื่องจากงดการจัดงานวันเด็กแห่งชาติ
พ.ศ. 2508 จอมพลถนอม กิตติขจร เด็กจะเจริญต้องรักเรียนเพียรทำดี
พ.ศ. 2509 จอมพลถนอม กิตติขจร เด็กที่ดีต้องมีสัมมาคารวะ มานะ บากบั่น และสมานสามัคคี
พ.ศ. 2510 จอมพลถนอม กิตติขจร อนาคตของชาติจะสุกใส หากเด็กไทยแข็งแรงดีมีความประพฤติเรียบร้อย
พ.ศ. 2511 จอมพลถนอม กิตติขจร ความเจริญและความมั่นคงของชาติไทยในอนาคต ขึ้นอยู่กับเด็กที่มีวินัย เฉลียวฉลาดและรักชาติยิ่ง
พ.ศ. 2512 จอมพลถนอม กิตติขจร รู้เรียน รู้เล่น รู้สามัคคี เป็นความดีที่เด็กพึงจำ
พ.ศ. 2513 จอมพลถนอม กิตติขจร เด็กประพฤติดีและศึกษาดี ทำให้มีอนาคตแจ่มใส
พ.ศ. 2514 จอมพลถนอม กิตติขจร ยามเด็กจงหมั่นเรียน เพียรกระทำดี เติบใหญ่จะได้มีความสุขความเจริญ
พ.ศ. 2515 จอมพลถนอม กิตติขจร เยาวชนฝึกตนดี มีความสามารถ
พ.ศ. 2516 จอมพลถนอม กิตติขจร เด็กดีเป็นศรีแก่ชาติ เด็กฉลาดชาติเจริญ
พ.ศ. 2517 สัญญา ธรรมศักดิ์ สามัคคีคือพลัง
พ.ศ. 2518 สัญญา ธรรมศักดิ์ เด็กดีคือทายาทของชาติไทย ต้องร่วมใจร่วมพลังสร้างความสามัคคี
พ.ศ. 2519 หม่อมราชวงศ์คึกฤทธิ์ ปราโมช เด็กที่ต้องการเห็นอนาคตของชาติรุ่งเรือง จะต้องทำตัวให้ดี มีวินัย เสียแต่บัดนี้
พ.ศ. 2520 ธานินทร์ กรัยวิเชียร รักชาติ ศาสน์ กษัตริย์ เป็นคุณสมบัติของเยาวชนไทย
พ.ศ. 2521 พลเอกเกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์ เด็กดีเป็นศรีแก่ชาติ เด็กฉลาดชาติมั่นคง
พ.ศ. 2522 พลเอกเกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์ เด็กไทยคือหัวใจของชาติ
พ.ศ. 2523 พลเอกเกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์ อดทน ขยัน ประหยัด เป็นคุณสมบัติของเด็กไทย
พ.ศ. 2524 พลเอกเปรม ติณสูลานนท์ เด็กไทยมีวินัย ใจสัตย์ซื่อ รู้ประหยัด เคร่งครัดคุณธรรม
พ.ศ. 2525 พลเอกเปรม ติณสูลานนท์ ขยันศึกษา ใฝ่หาความรู้ เชิดชูชาติ ศาสน์ กษัตริย์ เป็นคุณสมบัติของเด็กไทย
พ.ศ. 2526 พลเอกเปรม ติณสูลานนท์ รู้หน้าที่ ขยัน ซื่อสัตย์ ประหยัด มีวินัยและคุณธรรม
พ.ศ. 2527 พลเอกเปรม ติณสูลานนท์ รักวัฒนธรรมไทย ใฝ่ดีมีความคิด สุจริตใจมั่น หมั่นศึกษา
พ.ศ. 2528 พลเอกเปรม ติณสูลานนท์ สามัคคี นิยมไทย มีวินัย ใฝ่คุณธรรม
พ.ศ. 2529 พลเอกเปรม ติณสูลานนท์ นิยมไทย มีวินัย ใช้ประหยัด ใจสัตย์ซื่อ ถือคุณธรรม
พ.ศ. 2530 พลเอกเปรม ติณสูลานนท์ นิยมไทย มีวินัย ใช้ประหยัด ใจสัตย์ซื่อ ถือคุณธรรม
พ.ศ. 2531 พลเอกเปรม ติณสูลานนท์ นิยมไทย มีวินัย ใช้ประหยัด ใจสัตย์ซื่อ ถือคุณธรรม
พ.ศ. 2532 พลเอกชาติชาย ชุณหะวัณ รักชาติ ศาสน์ กษัตริย์ ใจสัตย์ซื่อ ถือคุณธรรม
พ.ศ. 2533 พลเอกชาติชาย ชุณหะวัณ รักชาติ ศาสน์ กษัตริย์ ใจสัตย์ซื่อ ถือคุณธรรม
พ.ศ. 2534 พลเอกชาติชาย ชุณหะวัณ รู้หน้าที่ มีวินัย ใฝ่คุณธรรม นำชาติพัฒนา
พ.ศ. 2535 อานันท์ ปันยารชุน สามัคคี มีวินัย ใฝ่ศึกษา จรรยางาม
พ.ศ. 2536 ชวน หลีกภัย ยึดมั่นประชาธิปไตย ร่วมใจพัฒนา รักษาสิ่งแวดล้อม
พ.ศ. 2537 ชวน หลีกภัย ยึดมั่นประชาธิปไตย ร่วมใจพัฒนา รักษาสิ่งแวดล้อม
พ.ศ. 2538 ชวน หลีกภัย สืบสานวัฒนธรรมไทย ร่วมใจพัฒนา รักษาสิ่งแวดล้อม
พ.ศ. 2539 บรรหาร ศิลปอาชา มุ่งหาความรู้ เชิดชูความเป็นไทย หลีกไกลยาเสพติด
พ.ศ. 2540 พลเอกชวลิต ยงใจยุทธ รู้คุณค่าวัฒนธรรมไทย ตั้งใจใฝ่ศึกษา ไม่พึ่งพายาเสพติด
พ.ศ. 2541 ชวน หลีกภัย ขยัน ประหยัด ซื่อสัตย์ มีวินัย
พ.ศ. 2542 นายชวน หลีกภัย ขยัน ประหยัด ซื่อสัตย์ มีวินัย
พ.ศ. 2543 ชวน หลีกภัย มีวินัย ใฝ่เรียนรู้ คู่คุณธรรม นำประชาธิปไตย
พ.ศ. 2544 ชวน หลีกภัย มีวินัย ใฝ่เรียนรู้ คู่คุณธรรม นำประชาธิปไตย
พ.ศ. 2545 พันตำรวจโททักษิณ ชินวัตร เรียนให้สนุก เล่นให้มีความรู้ สู่อนาคตที่สดใส
พ.ศ. 2546 พันตำรวจโททักษิณ ชินวัตร เรียนรู้ตลอดชีวิต คิดอย่างสร้างสรรค์ ก้าวทันเทคโนโลยี
พ.ศ. 2547 พันตำรวจโททักษิณ ชินวัตร รักชาติ รักพ่อแม่ รักเรียน รักสิ่งดีๆ อนาคตดีแน่นอน
พ.ศ. 2548 พันตำรวจโททักษิณ ชินวัตร เด็กรุ่นใหม่ ต้องขยันอ่าน ขยันเรียน กล้าคิด กล้าพูด
พ.ศ. 2549 พันตำรวจโททักษิณ ชินวัตร อยากฉลาด ต้องขยันอ่าน ขยันคิด
พ.ศ. 2550 พลเอกสุรยุทธ์ จุลานนท์ มีคุณธรรมนำใจ ใช้ชีวิตพอเพียง หลีกเลี่ยงอบายมุข
พ.ศ. 2551 พลเอกสุรยุทธ์ จุลานนท์ สามัคคี มีวินัย ใฝ่เรียนรู้ เชิดชูคุณธรรม
พ.ศ. 2552 อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ฉลาดคิด จิตบริสุทธิ์ จุดประกายฝัน ผูกพันรักสามัคคี
พ.ศ. 2553 อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ คิดสร้างสรรค์ ขยันใฝ่รู้ เชิดชูคุณธรรม
พ.ศ. 2554 อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ รอบคอบ รู้คิด มีจิตสาธารณะ
พ.ศ. 2555 ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร สามัคคี มีความรู้คู่ปัญญา คงรักษาความเป็นไทย ใส่ใจเทคโนโลยี