วันขึ้นปีใหม่


ประวัติความเป็นมา

วันปีใหม่ มีประวัติความเป็นมาซึ่งเปลี่ยนแปลงไปตามยุคสมัยและความเหมาะสม ตั้งแต่ในสมัยเริ่มแรกเมื่อชาวบาบิโลเนียเริ่มคิดค้นการใช้ปฏิทิน โดยอาศัยระยะต่าง ๆ ของดวงจันทร์เป็นหลักในการนับ เมื่อครบ 12 เดือนก็กำหนดว่าเป็น 1 ปี และเพื่อให้เกิดความพอดีระหว่างการนับปีตามปฏิทินกับปีตามฤดูกาล จึงได้เพิ่มเดือนเข้าไปอีก 1 เดือน เป็น 13 เดือนในทุก 4 ปี


ต่อมาชาวอียิปต์ กรีก และชาวเซมิติค ได้นำปฏิทินของชาวบาบิโลเนียมาดัดแปลงแก้ไข อีกหลายคราวเพื่อให้ตรงกับฤดูกาลมากยิ่งขึ้นจนถึงสมัยของกษัตริย์จูเลียต ซีซาร์ ได้นำความคิดของนักดาราศาสตร์ชาวอียิปต์ชื่อ โยซิเยนิส มาปรับปรุง ให้ปีหนึ่งมี 365 วัน ในทุก ๆ 4 ปี ให้เติมเดือนที่มี 28 วัน เพิ่มขึ้นอีก 1 วัน เป็น 29 วัน คือเดือนกุมภาพันธ์ เรียกว่า อธิกสุรทิน


เมื่อเพิ่มในเดือนกุมภาพันธ์มี 29 วันในทุก ๆ 4 ปี แต่วันในปฏิทินก็ยังไม่ค่อยตรงกับฤดูกาลนัก คือเวลาในปฏิทินยาวกว่าปีตามฤดูกาล เป็นเหตุให้ฤดูกาลมาถึงก่อนวันในปฏิทิน


และในวันที่ 21 มีนาคมตามปีปฏิทินของทุก ๆ ปี จะเป็นช่วงที่มีเวลากลางวันและกลางคืนเท่ากัน คือเป็นวันที่ดวงอาทิตย์จะขึ้นตรงทิศตะวันออก และลับลงตรงทิศตะวันตกเป๋ง วันนี้ทั่วโลกจึงมีช่วงเวลาเท่ากับ 12 ชั่วโมง เท่ากัน เรียกว่า วันทิวาราตรีเสมอภาคมีนาคม (Equinox in March)


แต่ในปี พ.ศ. 2125 วัน Equinox in March กลับไปเกิดขึ้นในวันที่ 11 มีนาคม แทนที่จะเป็นวันที่ 21 มีนาคม ดังนั้น พระสันตะปาปาเกรกอรี่ที่ 13 จึงทำการปรับปรุงแก้ไขหักวันออกไป 10 วันจากปีปฏิทิน และให้วันหลังจากวันที่ 4 ตุลาคม พ.ศ. 2125 แทนที่จะเป็นวันที่ 5 ตุลาคม ก็ให้เปลี่ยนเป็นวันที่ 15 ตุลาคมแทน (เฉพาะในปี 2125 นี้) ปฏิทินแบบใหม่นี้จึงเรียกว่า ปฏิทินเกรกอเรี่ยน จากนั้นได้ปรับปรุงประกาศใช้วันที่ 1 มกราคม เป็นวันเริ่มต้นของปีเป็นต้นมา


ความเป็นมาของ วันขึ้นปีใหม่ไทย
 
ประเพณีปีใหม่ของไทยสมัยอยุธยาและรัตนโกสินทร์ ตั้งแต่รัชกาลที่ ๑ ถึงรัชกาลที่ ๕ ตอนต้น ถือวันทางจันทรคติเป็นวันขึ้นปีใหม่ สำหรับพระราชพิธีปีใหม่นั้น ทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ ให้พระบรมวงศานุวงศ์ฝ่ายหน้าเสด็จเข้าไปรับพระราชทานเลี้ยง ณ ท้องพระโรงกลางพระที่นั่งจักรีมหาปราสาท พระราชทานฉลากแก่พระบรมวงศานุวงศ์และข้าราชการบางคน ครั้นพระราชทานสิ่งของตามฉลากแล้วเสด็จพระราชดำเนินมาที่ศาลาหน้าพระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท ทอดพระเนตรละครหลวงแล้วเสด็จ ฯ กลับ


          ในสมัยรัชกาลที่ ๖ ทรงพระกรุณโปรดเกล้าฯให้ใช้พุทธศักราช แทน รัตนโกสินทรศก ตั้งแต่  พ.ศ. ๒๔๕๕ และต่อมาใน พ.ศ. ๒๔๕๖ โปรดให้รวมพระราชพิธีสัมพัจฉรฉินท์เถลิงศกสงกรานต์ พระราชพิธีศรีสัจจปานกาลถือน้ำพระพิพัฒน์สัตยาเข้าด้วยกันเรียกว่า พระราชพิธีตรุษสงกรานต์

            ครั้นต่อมาในรัชกาลที่ ๘ คณะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ในพระปรมาภิไธยพระบาทสมเด็จพระปรเมนทร มหาอานันทมหิดล ได้ประกาศให้ใช้วันที่ ๑ มกราคม เป็น วันขึ้นปีใหม่ เพราะวันที่ ๑ มกราคม ใกล้เคียงวันแรม ๑ ค่ำ เดือนอ้าย เป็นการใช้ฤดูหนาวเริ่มต้นปีและเป็นการสอดคล้องตามจารีตประเพณีโบราณของไทยต้องตามคติแห่งพระบวรพุทธศาสนาและตรงกับนานาประเทศ โดยให้เริ่มใช้ตั้งแต่วันที่ ๑  มกราคม พ.ศ. ๒๔๘๔ ตามราชกิจจานุเบกษา เล่ม 58 หน้า 31 เป็นต้นไป

            ในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพล อดุลยเดช  เมื่อ พ.ศ.๒๔๙๐ คณะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์โปรดให้ยกการพระราชกุศลสดับปกรณ์ผ้าคู่ในวันขึ้นปีใหม่ ไปใช้ในพระราชพิธีสงกรานต์ ซึ่งฟื้นฟูขึ้นใหม่ตามโบราณราชประเพณีซึ่งเป็นเทศกาล สงกรานต์ในวันที่ ๑๓ - ๑๔ - ๑๕ เมษายน

            ต่อมา พ.ศ. ๒๕๐๐ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้งดการพระราชกุศลสวดมนต์เลี้ยงพระในวันขึ้นปีใหม่ เปลี่ยนเป็นเสด็จออกทรงบำเพ็ญพระราชกุศลทรงบาตรวันขึ้นปีใหม่แทนใน พุทธศักราช ๒๕๐๑    และ

            วันที่ ๑ มกราคม พ.ศ. ๒๕๐๑ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระนางเจ้าฯพระบรมราชินีนาถ เสด็จพระราชดำเนินโดยรถยนต์พระที่นั่งจากพระตำหนักจิตรลดารโหฐานพระราชวังดุสิตไปพระบรมมหาราชวัง ทรงจุดธูปเทียนถวายนมัสการพระพุทธปฏิมาที่พระแท่น นพปฎลมหาเศวตฉัตรภายในท้องพระโรง

            เวลา ๗ นาฬิกา เสด็จฯ ลงยังสนามหน้าพระที่นั่งจักรีมหาปราสาท ทรงจุดธูปเทียนเครื่องทองน้อยแล้วทรงบาตรพร้อมด้วยพระบรมวงศานุวงศ์ องคมนตรี รัฐมนตรี ข้าราชการ ทุกกระทรวง ทบวง กรม โดยจัดเป็นสาย ๆ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและพระบรมวงศานุวงศานุวงศ์ ๕๐ รูป นอกนั้นสายละ ๒๕ รูป รวมพระสงฆ์ ๓๐๐ รูป เสร็จแล้วเสด็จฯ ขึ้น งานนี้แต่งเครื่องแบบปรกติขาว งานนี้มีสังข์แตร ปี่พาทย์ ประโคม บรรเลง ตั้งแต่เสด็จทรงจุดเทียนจนเสด็จขึ้น

            วันนี้ เวลา ๙ นาฬิกาจนถึงเวลา ๑๗ นาฬิกา สำนักพระราชวัง จะได้จัดที่สำหรับลงพระนามและนาม ถวายพระพรไว้ที่พระบรมมหาราชวัง

            ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เปลี่ยนการพระราชพิธีบำเพ็ญพระราชกุศลทรงบาตรขึ้นปีใหม่ ในวันที่ ๑ มกราคม เป็นวันที่ ๓๑ ธันวาคม ซึ่งเป็นวันสิ้นปี

            ต่อมาในปี พ.ศ. ๒๕๑๘ พระราชพิธีทรงบำเพ็ญพระราชกุศลทรงบาตรขึ้นปีใหม่ ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้จัดเป็นงานส่วนพระองค์ ณ พระราชฐานที่ประทับ

            สำหรับ พิธีของราชการและประชาชนในวันขึ้นปีใหม่ ก็จะมีตั้งแต่คืนวันที่ ๓๑ ธันวาคม จนถึง วันที่ ๑ มกราคมเช่นเคยยึดถือมาเดิม คือในวันสิ้นปีหรือวันที่ ๓๑  ธันวาคม ทางราชการหรือประชาชนในท้องถิ่นต่างๆ จัดให้มีการรื่นเริง และมหรสพ มีพระราชดำรัสในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวพระราชทานพรปีใหม่แก่ประชาชน สมเด็จพระสังฆราชประทานพรปีใหม่แก่พุทธศาสนิกชนและบุคคลสำคัญของบ้านเมือง เช่น ประธานรัฐสภานายกรัฐมนตรี ประธานศาลฎีกา กล่าวคำปราศรัย พอถึงเวลา ๒๔.๐๐ น. วัดวาอารามต่างๆ จะจัดพระสงฆ์เจริญชัยมงคลคาถา ย่ำฆ้อง กลอง ระฆัง เพื่อแสดง ความยินดีต้อนรับรุ่งอรุณแห่งชีวิตของประชาชนในปีใหม่โดยทั่วกัน ตอนเช้าวันที่ ๑ มกราคม ก็จะมีการทำบุญตักบาตร สุดแท้แต่การจัด บางปีมีการจัดร่วมกัน บางปีบางท้องที่ก็ไปทำบุญตักบาตรกันที่วัดหรือที่ใดๆ บางท่านบางครอบครัว ก็มีการทำบุญตักบาตรหรือการทำบุญเลี้ยงพระที่บ้าน ที่สำนักงานของตน


กิจกรรมที่ชาวไทยส่วนใหญ่มักจะยึดถือปฏิบัติในวันขึ้นปีใหม่ได้แก่

1. การทำบุญตักบาตร โดยอาจตักบาตรที่บ้าน หรือไปที่วัดหรือตามสถานที่ต่างๆที่ทางราชการเชิญชวนไปร่วมทำบุญ
2. การกราบขอพรจากผู้ใหญ่ และอวยพรเพื่อนฝูง การมอบของขวัญ การมอบช่อดอกไม้ หรือการส่งบัตรอวยพร
3. การจัดงานรื่นเริง การจัดเลี้ยงในหมู่เพื่อนฝูง ญาติพี่น้องหรือตามหน่วยงานต่างๆ
วันขึ้นปีใหม่นับเป็นโอกาสดีที่จะทำให้เราได้ทบทวนถึงการดำเนินชีวิตในอดีต เพื่อจะได้แก้ไขข้อบกพร่องที่เกิดขึ้นในอดีตให้ดีขึ้น